สวัสดีค่ะผู้อ่านที่น่ารัก วันนี้เราได้กลับมาพบกันอีกครั้ง
หลังจากที่แป้งหายไปจากการเขียนบล็อกเลยพักหนึ่ง
สำหรับวันนี้ แป้งขอนำเสนอบทความที่เกี่ยวกับชุดสื่อการสอน
บทความในนี้อาจจะดูมีสาระมากกว่าบทความที่ผ่านมานะคะ
ซึ่งแป้งบอกได้เลยว่า เป็นบทความที่มีประโยชน์แน่นอน
ตามไปอ่านกันเลยค่ะ...
ชุดสื่อการสอน
"Bingo Elements"
ชุดสื่อการสอนชุดนี้ เป็นสื่อสำหรับรายวิชาเคมี ใช้สำหรับการสอนในเรื่องตารางธาตุ ภายในกล่องประกอบด้วยอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
1. คู่มือการใช้สื่อ
2. ใบงานตารางธาตุ
3. ฉลากหมายเลขธาตุ
4. แผ่นตาราง Bingo Elements
วิธีการใช้สื่อชุดนี้ ตามคู่มือนะคะ
1. ครูผู้สอนแจกตาราง Bingo Elements , ใบงาน และฝาสำหรับวางคนละ 1 ชุด
2. ให้นักเรียนสุ่มหยิบฉลากขึ้นมาหนึ่งใบ ซึ่งฉลากที่หยิบขึ้นมานั้นจะเป็นฉลากที่บอกหมายเลขอะตอมของธาตุให้รู้ว่าคือธาตุตัวใด
3. เมื่อรู้ว่าธาตุที่ได้นั้นคือธาตุใด ให้นักเรียนดูแผ่นตารางของตนเองว่ามีธาตุตัวนั้นอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้วางฝาลงบนช่องธาตุนั้น
4. นักเรียนทุกคนทั้งที่ได้วางฝาและไม่ได้วางฝา จะต้องเขียนคำตอบเกี่ยวกับธาตุที่จับฉลากได้ลงในใบงานให้เสร็จภายใน 1 นาที
5. เล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ชนะ แล้วพูดดังๆ ว่า "Bingo" และต้องตอบคำถามในใบงานจนครบถูกต้องทุกข้อ ถือเป็นการจบเกมในแต่ละรอบ
จากวิธีการใช้งาน ผู้อ่านมองเห็นอะไรบ้างไหมคะ สื่อมีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด พบข้อดี/ข้อเสียตรงส่วนไหนบ้าง เรามาวิเคราะห์สื่อไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ
ความสมบูรณ์ของสื่อ
--> มีสิ่งเร้า ตัวกระตุ้น ตอบสนองต่อความแตกต่าง
สื่อชุดนี้เป็นสื่อที่สามารถกระตุ้นผู้เรียนได้ เนื่องจากผู้เรียนสามารถเล่นได้ทุกคน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อตามแบบวิธีเดิมๆ ที่สอนเพียงแค่เนื้อหา แต่ไม่มีกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา ซึ่งก็ตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างผู้เรียนได้ เพราะการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเรียนรู้ได้ดีเพียงแค่การได้รับเนื้อหาสาระมา แต่บางคนจำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้จึงจะก่อให้เกิดความเข้าใจและเรียนรู้ได้ดี
--> บอกวัตถุประสงค์หรือปลายทางของสื่อ
สื่อชุดนี้มีคู่มือการใช้งานมาให้ แต่เมื่อได้ศึกษาข้อมูลในคู่มือการใช้กลับไม่ได้บอกถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าเป็นสื่อที่ผลิตมาเพื่ออะไร หรือใช้สำหรับการเรียนของผู้เรียนในระดับไหน ในการนำไปใช้อาจทำให้ผู้เรียนบางระดับที่ใช้งานสื่อเกิดความไม่เข้าใจ เพราะเนื้อหาของสื่อไม่ตอบสนองต่อสิ่งผู้เรียนเรียนต้องการ
--> มีเนื้อหากิจกรรมที่หลากหลาย
สื่อชุดนี้เป็นสื่อที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจง เป็นเรื่องของตารางธาตุในรายวิชาเคมีเท่านั้น จึงไม่มีความหลากหลายของเนื้อหามากนัก นำไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่นค่อนข้างยาก
--> มีการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน
จากการที่ได้ลองเล่นและศึกษาสื่อ พบว่าสื่อชุดนี้ไม่ได้ให้เพียงแค่ความสนุกสนานเพลินดเพลินเท่านั้น ในส่วนของใบงานคือส่วนที่ใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน เพราะทุกครั้งที่จับฉลากหมายเลขธาตุ ผู้เรียนทุกคนต้องเขียนธาตุตัวนั้นลงในใบงานและต้องเขียนรายละเอียดพื้นฐานของธาตุตัวนั้นด้วย เป็นการทดสอบความเข้าใจในการเรียนของผู้เรียนได้อีกวิธีหนึ่ง
--> ให้ข้อมูลย้อนกลับ
สื่อชุดนี้ยังขาดในส่วนการแสดงความเห็นจากผู้เรียน เนื่องจากเป็นการเล่นเกมทำให้ผู้เรียนมุ่งความสนใจไปที่การเล่นและการตอบคำถามในใบงาน ครูจึงไม่สามารถรู้ได้ว่าสื่อชุดนี้เป็นอย่างไร หรือกิจกรรมนี้เมื่อผู้เรียนได้เล่นแล้วรู้สึกอย่างไร ตอบสนองความต้องการทางการเรียนมากน้อยเพียงใด
ข้อดี
- เป็นสื่อที่ให้ความเพลิดเพลินในการเรียน ช่วยให้การเรียนในเรื่องที่น่าเบื่อได้รับความสนใจากผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
- เป็นสื่อที่ทำให้ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้พร้อมๆ กัน ทีละหลายๆ คน ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มให้แก่ผู้เรียน
- ในขณะที่เล่นเกมผู้เรียนต้องตอบคำถามในใบงานซึ่งมีเวลาจำกัด จึงต้องกระตุ้นตนเองให้สามารถตอบคำถามได้ทันเวลา
- เป็นสื่อที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงเกินไป สื่อไม่สามารถนำไปใช้กับรายวิชาอื่นได้
- อุปกรณ์สื่อไม่คงทน ชำรุดเสียหายได้ง่าย
--> ควรมีการปรับปรุงอุปกรณ์สื่อให้มีความคงทน ใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ควรแบ่งเนื้อหาในการเล่นเกมเป็นระดับๆ หรืออาจะแบ่งตามประเภทหรือลักษณะของธาตุ เพื่อให้สามารถใช้งานได้หลายครั้ง และสามารถติดตามทางการเรียนของผู้เรียนได้ง่ายกว่า ผู้เรียนเองก็จะสามารถจัดการความรู้ของตนเองได้ และควรมีแบบทดสอบก่อน-หลังเรียนเพื่อเป็นการประเมินผู้เรียนด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การวิเคราะห์ชุดสื่อการสอนแบบง่ายๆ ที่ผู้อ่านก็สามารถทำได้ ซึ่งการวิเคราะห์เพื่อนำมาปรับปรุงอยู่ตลอด ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างมาก เนื่องจากสื่อควรได้รับการปรับเนื้อหาให้ทันสมัย และดูแลอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ ชุดสื่อการสอนที่ดีต้องเป็นสื่อที่มีเนื้อหาครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในเรื่องของความแตกต่างในด้านการเรียนรู้ด้วย อีกทั้งยังต้องเหมาะสมกับวัยหรือระดับการเรียน เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความสับสนในเนื้อหา เพียงเท่านี้เราก็สามารถนำชุดสื่อการสอนมาใช้ร่วมกับการเรียนได้ เพื่อให้ผู้เรียนของเรา "เรียนสนุก เล่นสนุกไปกับชุดสื่อการสอน" ได้อย่างไม่รู้สึกเบื่อนะคะ
..แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป
สวัสดีค่ะ :)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น