สวัสดีค่าผู้อ่านทุกท่าน :)
บทความนี้จะต่อเนื่องจากบทความที่แล้วนะคะ
ซึ่งแป้งได้เขียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของชุดสื่อการสอน
ในเมื่อเราทราบจุดบกพร่องของชุดสื่อที่มีแล้ว
วันนี้เราจะมาลงมือปรับปรุงสื่อกันค่ะ ตามไปดูกันเลย...
ชุดสื่อ "Bingo Elements" เป็นชุดสื่อที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และใช้ในการเรียนการสอนได้โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ควบคุม แต่ความบกพร่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนของสื่อชุดนี้ คือสามารถใช้งานได้ดีเพียงอย่างเดียวคือใช้สื่อในขณะที่มีผู้สอนควบคุมหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งหากนำมาศึกษาและเรียนรู้ด้วยตัวเองอาจไม่ค่อยเข้าใจมากนัก เนื่องจากยังขาดส่วนประกอบที่สำคัญไปคือส่วนให้ความรู้ ดังนั้นวันนี้แป้งจึงนำสื่อชุดนี้มาปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ
สำหรับขั้นตอนการปรับปรุงสื่อก็ไม่ยากเลยค่ะ ซึ่งเมื่อเราได้วิเคราะห์มาแล้วยิ่งทำให้ง่ายต่อการปรับปรุงมากๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนะคะว่าแป้งจะปรับปรุงในส่วนการให้ความรู้และรูปแบบการใช้งาน เพราะจากการวิเคราะห์ในบทความที่แล้ว ส่วนของกิจกรรมไม่มีปัญหาค่ะ ผู้จัดทำได้ออกแบบกิจกรรมมาเหมาะสมดีแล้ว สามารถใช้งานได้ดีทีเดียวเลย ว่าแล้วก็มาเริ่มการปรับปรุงสื่อเลยดีกว่านะคะ
อุปกรณ์ที่เราต้องใช้ค่ะ
จากรูปจะเห็นได้ว่าเราใช้อุปกรณ์ทั่วไปเลยค่ะ กรรไกร คัตเตอร์ กาว กระดาษแข็ง สติ๊กเกอร์ใสค่ะแป้งเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของสื่อก่อนค่ะ ซึ่งสื่อชุดนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับตารางธาตุ อยู่ในกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ของระดับชั้นมัธยมปลายค่ะ แป้งรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้ แล้วสรุปออกมาให้สามารถอ่านได้ง่าย ทำเป็นใบความรู้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากทำใบความรู้ แป้งก็ยังทำตารางธาตุเพิ่มเติมให้ด้วยเพื่อให้ผู้เรียนสามารถทบทวนได้ด้วยค่ะ
เมื่อได้ส่วนเนื้อหาที่ต้องการแล้วก็นำเนื้อหาที่ได้มาจัดวางตามแบบในรูปเลยค่ะ ตัดตามขนาดของข้อความและรูปภาพ แล้วใช้สติ๊กเกอร์ใสติดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตอนแรกที่คิดเรื่องการปรับปรุงตั้งใจจะนำไปเคลือบแข็ง แต่เจอมากับตัวเองตลอดเวลาเคลือบแข็ง งานจะชอบหัก เลยเปลี่ยนเป็นใช้สติ๊กเกอร์ใสติดแทน งอได้ ม้วนได้ ไม่ฉีกขาด กันน้ำด้วยนะคะ สารพัดประโยชน์เลย ใช้งานสะดวกมากๆ
ในส่วนเนื้อหาก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ ต่อไปเป็นการปรับปรุงภายนอกของสื่อ แป้งได้ทำกล่องสำหรับใส่หมายเลขธาตุ และตัววางบิงโกเพิ่มเติม เนื่องจากของเดิมไม่มีกล่องค่ะ อาจทำให้ชิ้นส่วนสูญหายได้ และทำซองสำหรับเก็บใบงานและใบความรู้เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บ สุดท้ายก็เพิ่มความสวยงามด้วยการทำชื่อสื่อใหม่ติดบนหน้ากล่อง ก็เป็นอันสิ้นสุดภารกิจการปรับปรุงชุดสื่อการเรียนรู้ "Bingo Elements" แล้วค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับการปรับปรุงสื่อแบบง่ายๆ แต่ใช้งานได้จริง :)
สำหรับชุดสื่อการสอนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องอยู่เสมอนะคะ เพราะสื่อเหล่านี้ถูกผลิตและออกแบบขึ้นเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการและความแตกต่างทางการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งในการเรียนรู้แบบในห้องเรียนและการศึกษาด้วยตัวเองค่ะ
**หากอ่านมาถึงจุดนี้แล้วยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับปรุงสื่อ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน อย่างไร แป้งแนะนำว่าให้กลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ก่อนนะคะ เพราะหากเราวิเคราะห์ยังไม่เป็น หาจุดบกพร่องของสื่อเราไม่ได้ เราก็จะไม่สามารถปรับปรุงสื่อให้มีประสิทธิภาพได้ค่ะ**
แล้วพบกันใหม่บทความต่อไปนะคะ
สวัสดีค่ะ :)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น