31/1/57

เมื่อสื่อ(การเรียนรู้)ไม่สมบูรณ์

สวัสดีค่าผู้อ่านทุกท่าน :)
บทความนี้จะต่อเนื่องจากบทความที่แล้วนะคะ
ซึ่งแป้งได้เขียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของชุดสื่อการสอน
ในเมื่อเราทราบจุดบกพร่องของชุดสื่อที่มีแล้ว
วันนี้เราจะมาลงมือปรับปรุงสื่อกันค่ะ ตามไปดูกันเลย...
 


ชุดสื่อ "Bingo Elements" เป็นชุดสื่อที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และใช้ในการเรียนการสอนได้โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้ควบคุม แต่ความบกพร่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนของสื่อชุดนี้ คือสามารถใช้งานได้ดีเพียงอย่างเดียวคือใช้สื่อในขณะที่มีผู้สอนควบคุมหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งหากนำมาศึกษาและเรียนรู้ด้วยตัวเองอาจไม่ค่อยเข้าใจมากนัก เนื่องจากยังขาดส่วนประกอบที่สำคัญไปคือส่วนให้ความรู้ ดังนั้นวันนี้แป้งจึงนำสื่อชุดนี้มาปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ
สำหรับขั้นตอนการปรับปรุงสื่อก็ไม่ยากเลยค่ะ ซึ่งเมื่อเราได้วิเคราะห์มาแล้วยิ่งทำให้ง่ายต่อการปรับปรุงมากๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนะคะว่าแป้งจะปรับปรุงในส่วนการให้ความรู้และรูปแบบการใช้งาน เพราะจากการวิเคราะห์ในบทความที่แล้ว ส่วนของกิจกรรมไม่มีปัญหาค่ะ ผู้จัดทำได้ออกแบบกิจกรรมมาเหมาะสมดีแล้ว สามารถใช้งานได้ดีทีเดียวเลย ว่าแล้วก็มาเริ่มการปรับปรุงสื่อเลยดีกว่านะคะ

 
อุปกรณ์ที่เราต้องใช้ค่ะ
จากรูปจะเห็นได้ว่าเราใช้อุปกรณ์ทั่วไปเลยค่ะ กรรไกร คัตเตอร์ กาว กระดาษแข็ง สติ๊กเกอร์ใสค่ะ

 
แป้งเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของสื่อก่อนค่ะ ซึ่งสื่อชุดนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับตารางธาตุ อยู่ในกลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ของระดับชั้นมัธยมปลายค่ะ แป้งรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้ แล้วสรุปออกมาให้สามารถอ่านได้ง่าย ทำเป็นใบความรู้ให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากทำใบความรู้ แป้งก็ยังทำตารางธาตุเพิ่มเติมให้ด้วยเพื่อให้ผู้เรียนสามารถทบทวนได้ด้วยค่ะ

เมื่อได้ส่วนเนื้อหาที่ต้องการแล้วก็นำเนื้อหาที่ได้มาจัดวางตามแบบในรูปเลยค่ะ ตัดตามขนาดของข้อความและรูปภาพ แล้วใช้สติ๊กเกอร์ใสติดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตอนแรกที่คิดเรื่องการปรับปรุงตั้งใจจะนำไปเคลือบแข็ง แต่เจอมากับตัวเองตลอดเวลาเคลือบแข็ง งานจะชอบหัก เลยเปลี่ยนเป็นใช้สติ๊กเกอร์ใสติดแทน งอได้ ม้วนได้ ไม่ฉีกขาด กันน้ำด้วยนะคะ สารพัดประโยชน์เลย ใช้งานสะดวกมากๆ

 




ในส่วนเนื้อหาก็เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ ต่อไปเป็นการปรับปรุงภายนอกของสื่อ แป้งได้ทำกล่องสำหรับใส่หมายเลขธาตุ และตัววางบิงโกเพิ่มเติม เนื่องจากของเดิมไม่มีกล่องค่ะ อาจทำให้ชิ้นส่วนสูญหายได้ และทำซองสำหรับเก็บใบงานและใบความรู้เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บ สุดท้ายก็เพิ่มความสวยงามด้วยการทำชื่อสื่อใหม่ติดบนหน้ากล่อง ก็เป็นอันสิ้นสุดภารกิจการปรับปรุงชุดสื่อการเรียนรู้ "Bingo Elements" แล้วค่ะ







เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับการปรับปรุงสื่อแบบง่ายๆ แต่ใช้งานได้จริง :)

สำหรับชุดสื่อการสอนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องอยู่เสมอนะคะ เพราะสื่อเหล่านี้ถูกผลิตและออกแบบขึ้นเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการและความแตกต่างทางการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งในการเรียนรู้แบบในห้องเรียนและการศึกษาด้วยตัวเองค่ะ

**หากอ่านมาถึงจุดนี้แล้วยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับปรุงสื่อ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน อย่างไร แป้งแนะนำว่าให้กลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ก่อนนะคะ เพราะหากเราวิเคราะห์ยังไม่เป็น หาจุดบกพร่องของสื่อเราไม่ได้ เราก็จะไม่สามารถปรับปรุงสื่อให้มีประสิทธิภาพได้ค่ะ**



  
แล้วพบกันใหม่บทความต่อไปนะคะ
สวัสดีค่ะ :)




3/1/57

เรียนสนุก เล่นสนุกไปกับชุดสื่อการสอน


สวัสดีค่ะผู้อ่านที่น่ารัก วันนี้เราได้กลับมาพบกันอีกครั้ง
หลังจากที่แป้งหายไปจากการเขียนบล็อกเลยพักหนึ่ง
สำหรับวันนี้ แป้งขอนำเสนอบทความที่เกี่ยวกับชุดสื่อการสอน 
บทความในนี้อาจจะดูมีสาระมากกว่าบทความที่ผ่านมานะคะ
ซึ่งแป้งบอกได้เลยว่า เป็นบทความที่มีประโยชน์แน่นอน
ตามไปอ่านกันเลยค่ะ...
 


ชุดสื่อการสอน
"Bingo Elements"







ชุดสื่อการสอนชุดนี้ เป็นสื่อสำหรับรายวิชาเคมี ใช้สำหรับการสอนในเรื่องตารางธาตุ ภายในกล่องประกอบด้วยอุปกรณ์ดังต่อไปนี้





1. คู่มือการใช้สื่อ

 
2. ใบงานตารางธาตุ


3. ฉลากหมายเลขธาตุ




4. แผ่นตาราง Bingo Elements



วิธีการใช้สื่อชุดนี้ ตามคู่มือนะคะ
1. ครูผู้สอนแจกตาราง Bingo Elements , ใบงาน และฝาสำหรับวางคนละ 1 ชุด
2. ให้นักเรียนสุ่มหยิบฉลากขึ้นมาหนึ่งใบ ซึ่งฉลากที่หยิบขึ้นมานั้นจะเป็นฉลากที่บอกหมายเลขอะตอมของธาตุให้รู้ว่าคือธาตุตัวใด
3. เมื่อรู้ว่าธาตุที่ได้นั้นคือธาตุใด ให้นักเรียนดูแผ่นตารางของตนเองว่ามีธาตุตัวนั้นอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้วางฝาลงบนช่องธาตุนั้น
4. นักเรียนทุกคนทั้งที่ได้วางฝาและไม่ได้วางฝา จะต้องเขียนคำตอบเกี่ยวกับธาตุที่จับฉลากได้ลงในใบงานให้เสร็จภายใน 1 นาที
5. เล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ชนะ แล้วพูดดังๆ ว่า "Bingo" และต้องตอบคำถามในใบงานจนครบถูกต้องทุกข้อ ถือเป็นการจบเกมในแต่ละรอบ

จากวิธีการใช้งาน ผู้อ่านมองเห็นอะไรบ้างไหมคะ สื่อมีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด พบข้อดี/ข้อเสียตรงส่วนไหนบ้าง เรามาวิเคราะห์สื่อไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ

ความสมบูรณ์ของสื่อ

--> มีสิ่งเร้า ตัวกระตุ้น ตอบสนองต่อความแตกต่าง
สื่อชุดนี้เป็นสื่อที่สามารถกระตุ้นผู้เรียนได้ เนื่องจากผู้เรียนสามารถเล่นได้ทุกคน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อตามแบบวิธีเดิมๆ ที่สอนเพียงแค่เนื้อหา แต่ไม่มีกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา ซึ่งก็ตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างผู้เรียนได้ เพราะการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเรียนรู้ได้ดีเพียงแค่การได้รับเนื้อหาสาระมา แต่บางคนจำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้จึงจะก่อให้เกิดความเข้าใจและเรียนรู้ได้ดี

--> บอกวัตถุประสงค์หรือปลายทางของสื่อ
สื่อชุดนี้มีคู่มือการใช้งานมาให้ แต่เมื่อได้ศึกษาข้อมูลในคู่มือการใช้กลับไม่ได้บอกถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าเป็นสื่อที่ผลิตมาเพื่ออะไร หรือใช้สำหรับการเรียนของผู้เรียนในระดับไหน ในการนำไปใช้อาจทำให้ผู้เรียนบางระดับที่ใช้งานสื่อเกิดความไม่เข้าใจ เพราะเนื้อหาของสื่อไม่ตอบสนองต่อสิ่งผู้เรียนเรียนต้องการ

--> มีเนื้อหากิจกรรมที่หลากหลาย
สื่อชุดนี้เป็นสื่อที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจง เป็นเรื่องของตารางธาตุในรายวิชาเคมีเท่านั้น จึงไม่มีความหลากหลายของเนื้อหามากนัก นำไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่นค่อนข้างยาก

--> มีการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน
จากการที่ได้ลองเล่นและศึกษาสื่อ พบว่าสื่อชุดนี้ไม่ได้ให้เพียงแค่ความสนุกสนานเพลินดเพลินเท่านั้น ในส่วนของใบงานคือส่วนที่ใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน เพราะทุกครั้งที่จับฉลากหมายเลขธาตุ ผู้เรียนทุกคนต้องเขียนธาตุตัวนั้นลงในใบงานและต้องเขียนรายละเอียดพื้นฐานของธาตุตัวนั้นด้วย เป็นการทดสอบความเข้าใจในการเรียนของผู้เรียนได้อีกวิธีหนึ่ง

--> ให้ข้อมูลย้อนกลับ
สื่อชุดนี้ยังขาดในส่วนการแสดงความเห็นจากผู้เรียน เนื่องจากเป็นการเล่นเกมทำให้ผู้เรียนมุ่งความสนใจไปที่การเล่นและการตอบคำถามในใบงาน ครูจึงไม่สามารถรู้ได้ว่าสื่อชุดนี้เป็นอย่างไร หรือกิจกรรมนี้เมื่อผู้เรียนได้เล่นแล้วรู้สึกอย่างไร ตอบสนองความต้องการทางการเรียนมากน้อยเพียงใด

ข้อดี 
  • เป็นสื่อที่ให้ความเพลิดเพลินในการเรียน ช่วยให้การเรียนในเรื่องที่น่าเบื่อได้รับความสนใจากผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
  • เป็นสื่อที่ทำให้ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้พร้อมๆ กัน ทีละหลายๆ คน ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มให้แก่ผู้เรียน 
  • ในขณะที่เล่นเกมผู้เรียนต้องตอบคำถามในใบงานซึ่งมีเวลาจำกัด จึงต้องกระตุ้นตนเองให้สามารถตอบคำถามได้ทันเวลา
ข้อเสีย
  • เป็นสื่อที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงเกินไป สื่อไม่สามารถนำไปใช้กับรายวิชาอื่นได้
  • อุปกรณ์สื่อไม่คงทน ชำรุดเสียหายได้ง่าย
ข้อเสนอแนะ
--> ควรมีการปรับปรุงอุปกรณ์สื่อให้มีความคงทน ใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ควรแบ่งเนื้อหาในการเล่นเกมเป็นระดับๆ หรืออาจะแบ่งตามประเภทหรือลักษณะของธาตุ เพื่อให้สามารถใช้งานได้หลายครั้ง และสามารถติดตามทางการเรียนของผู้เรียนได้ง่ายกว่า ผู้เรียนเองก็จะสามารถจัดการความรู้ของตนเองได้ และควรมีแบบทดสอบก่อน-หลังเรียนเพื่อเป็นการประเมินผู้เรียนด้วย


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การวิเคราะห์ชุดสื่อการสอนแบบง่ายๆ ที่ผู้อ่านก็สามารถทำได้ ซึ่งการวิเคราะห์เพื่อนำมาปรับปรุงอยู่ตลอด ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างมาก เนื่องจากสื่อควรได้รับการปรับเนื้อหาให้ทันสมัย และดูแลอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ ชุดสื่อการสอนที่ดีต้องเป็นสื่อที่มีเนื้อหาครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในเรื่องของความแตกต่างในด้านการเรียนรู้ด้วย อีกทั้งยังต้องเหมาะสมกับวัยหรือระดับการเรียน เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความสับสนในเนื้อหา เพียงเท่านี้เราก็สามารถนำชุดสื่อการสอนมาใช้ร่วมกับการเรียนได้ เพื่อให้ผู้เรียนของเรา "เรียนสนุก เล่นสนุกไปกับชุดสื่อการสอน" ได้อย่างไม่รู้สึกเบื่อนะคะ




..แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป
สวัสดีค่ะ :)